การสร้างพระสมเด็จวัดระฆังของสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสีนั้น ตามตำราหลายเล่มระบุว่า เป็นพระที่สร้างแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามแต่โอกาสและเวลาจะอำนวย มีพระ เณร และญาติโยม จำนวนหลายท่านมาช่วยกันตำมวลสารและกดแม่พิมพ์ออกมาเป็นองค์พระ ที่เชื่ออย่างนั้นเป็นเพราะว่าแต่ละพิมพ์หรือจะเป็นพิมพ์เดียวกันนั้น เนื้อหามวลสารมีอ่อน แก่ ต่างกัน ละเอียดบ้างหยาบบ้าง สีสัน วรรณะ ก็แตกต่างกันไป จำนวนที่สร้างเชื่อได้ว่ามีไม่น้อยกว่า 84,000 องค์ (ตามพระธรรมขันธ์) แต่ด้วยกาลเวลาประมาณ 140 กว่าปี มีพระส่วนหนึ่งคงแตกหักชำรุด และ สูญหาย ไปบ้าง แต่ก็น่าเชื่อว่า จำนวนที่เหลืออยู่โดยรวมแล้วน่าจะมีอีกหลายหมื่นองค์ อย่างน้อยก็เหลือครึ่งหนึ่ง ก็คือประมาณ 40,000 องค์ เพราะลักษณะโครงสร้างทางกายภาพแล้ว พระสมเด็จวัดระฆังเป็นพระเนื้อแข็ง มีส่วนผสมของปูนเป็นหลัก พอแห้งเนื้อจะแข็ง ชำรุดได้ยาก เมื่อท่านออกบิณฑบาต ท่านก็จะนำเอาพระสมเด็จวัดระฆังติดตัวไปแจกญาติโยมด้วย และมักจะพูดว่า “ เก็บเอาไว้ให้ดีนะจ๊ะ ต่อไปจะหายาก ”
ฉะนั้นผู้ที่ได้ไปครอบครองก็ต้องเก็บรักษาไว้อย่างดี (บางทีเก็บเอาไว้จนลืม พอตกถึงรุ่นลูก รุ่นหลานก็ไม่รู้แล้วว่าเป็นพระวัดไหน) โดยเฉพาะคนโบราณด้วยแล้ว มีความเชื่อว่า ถ้าทำพระแตกหัก จะเป็นบาป เพราะพระเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ต้องรักษาเก็บไว้บนหิ้งพระอย่างดี ส่วนจำนวนที่เหลือจะอยู่ในความครอบครองของใครบ้างนั้น อยู่ที่ผู้ครอบครองจะนำออกมาเปิดเผยหรือไม่เท่านั้น (เพราะกลัวถูกโจรปล้น ) จากการติดตามนิตยสารพระเครื่องหลายเล่ม มีการนำพระสมเด็จออกมาโชว์ พิจารณาแล้วเป็นพระแท้ตามมาตรฐานสากล ตามที่เซียนพุทธพาณิชย์เล่นหากันนั่นแหละ แต่เซียนในวงการพระเครื่องของแต่ละชมรมจะยอมรับกันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเทคนิคของเซียน (เพราะเปิดเผยว่าแท้ พระมีจำนวนมาก ราคาก็จะตก) พระที่เราเอาไปให้เซียนดู เซียนก็จะบอกว่าไม่ถึงยุคหรือไม่ใช่เสมอ มีอยู่ทางเดียวคือต้องใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ตรวจหาค่าคาร์บอน12 หรือคาร์บอน14 เพื่อหาความเก่า แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พระแท้ผ่านการเวลา กว่า140 ปีขึ้นไป ย่อมมีร่องรอยความเป็นธรรมชาติให้เห็นเสมอ
อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า การสร้างพระสมเด็จวัดระฆังนั้น มีผู้ร่วมสร้างพระสมเด็จวัดระฆังหลายคน อาทิเช่น พระ เณรและญาติโยม สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันกดแม่พิมพ์ เนื่องจากทำหลายครั้งความประณีตของแต่ละคนนั้นจึงไม่เหมือนกัน อีกทั้งเนื้อมวลสารไม่เท่ากันและน้ำประสาน อันประกอบไปด้วย น้ำมันตังอิ๊ว น้ำผึ้ง น้ำอ้อย กล้วย และขนุน ซึ่งส่วนผสมเหล่านี้จะมีผลในการยืดหยุ่นตัวระหว่างกดพิมพ์ ถ้าอัดพิมพ์ไม่แน่นองค์พระก็จะติดพิมพ์ไม่ดี การตัดกรอบก็เช่นเดียวกัน ถ้าตัดกรอบไม่ดีก็จะเกิดรอยปริบริเวณขอบและการถอดพิมพ์นั้น ถ้างัดออกจากแม่พิมพ์ไม่ดีก็จะเกิดรอยปริร้าว นอกจากนี้ส่วนผสมของมวลสารที่เป็นพืชอันประกอบไปด้วยเกสรดอกไม้ต่างๆและมวลสารประเภทโปรตีน กาลเวลาผ่านไปนับร้อยปีมวลสารเหล่านี้ก็จะหลุดออกทำให้เกิดเป็นรูพรุน หรือไม่ก็หดตัวเป็นโพรง หลังจากถอดพิมพ์แล้วนำองค์พระมาผึ่งแดดให้แห้งระหว่างการเคลื่อนย้ายนั้น ทำให้มีวัตถุมาขีดข่วนจึงเกิดรอยตำหนิ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการจงใจ เซียนพระจึงถือว่าเป็นลักษณะพิเศษในการพิจารณาชี้ขาดความเป็นพระแท้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
comment (ความคิดเห็น)